ผู้ป่วยมะเร็งส่วนมากจะมีอาการเบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารไม่สะดวกอย่างที่เคย จนอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และเมื่อร่างกายอ่อนแอ ความรุนแรงของโรคอาจมากขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับการดูแลสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะอาหารการกิน ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งสามารถกินอะไรได้บ้างนั้น เรามาดูกัน
1. อาหารโปรตีนสูง ไขมันต่ำ
ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนไม่กล้าทานเนื้อสัตว์ แต่จริง ๆ แล้ว เนื้อสัตว์เป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน โดยควรเลือกกินเนื้อสัตว์โปรตีนสูง ไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่มีหนัง อกไก่ เนื้อปลา หรือไข่ เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีโปรตีนสูงเท่านั้น แต่ยังมีวิตามินบีและธาตุเหล็กจำนวนมาก ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด และหากขาดสารอาหารดังกล่าว อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางจนเป็นอุปสรรคในการรักษามะเร็งได้
2. อาหารประเภทข้าว-แป้ง
คาร์โบไฮเดรตจากอาหารประเภทข้าวและแป้งคือสิ่งที่ร่างกายต้องการ เพราะอาหารประเภทนี้ให้พลังงานแก่ผู้ป่วยมะเร็งได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ค่อยกินอาหาร มีอาการเบื่ออาหาร และอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและพลังงานตามมา
3. กรดไขมันดี
ไขมันดีหาได้จากเนื้อปลา เมล็ดพืชต่าง ๆ รำข้าว ซึ่งจะอุดมไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และจัดเป็นกลุ่มอาหารที่ให้พลังงานสูง
4. อาหารย่อยง่าย
ควรทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป อาหารสำหรับรูปชนิดเหลว เต้าหู้อ่อน มันฝรั่งบด ซึ่งเป็นอาหารย่อยง่าย เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งที่มีแผลในปาก หรือผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่อยากอาหาร โดยควรกินอาหารเคี้ยวง่าย กลืนง่ายแบบนี้ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารไปเติมพลังต่อสู้กับมะเร็ง
5 .อาหารประเภทต้ม-นึ่ง
อาหารที่ปรุงสุกด้วยกระบวนการต้มหรือนึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งเพราะไขมันจะต่ำ และลักษณะอาหารจะนิ่ม เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น
6. ผัก-ผลไม้
ผักและผลไม้มีวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูงในแทบจะทุกชนิด แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรรับประทานผักดิบ หรือผลไม้ที่ไม่ปอกเปลือก เพราะผักดิบหรือผลไม้ที่มีเปลือกอาจมีสารตกค้าง สามารถระคายเคืองช่องปาก หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพอื่น ๆ ได้ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันไม่เท่าคนปกติ
7. เครื่องดื่มอุ่น ๆ
เครื่องดื่มร้อน อย่างนมสดร้อน น้ำขิง โกโก้ร้อน จะช่วยปรับสมดุลลำไส้ ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากดื่มเครื่องดื่มร้อน 1 ชั่วโมงครึ่งก่อนทำกิจวัตรประจำวัน
ในกรณีที่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่ต้องเคี้ยวได้ อาจให้ผู้ป่วยรับประทานโยเกิร์ตหรือนมไขมันต่ำแทน เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนและสารอาหารที่เพียงพอ ทั้งนี้ควรเลือกรับประทานนมและโยเกิร์ตที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์มาแล้วเท่านั้น แต่หากร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ ไม่ควรให้ทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว เพราะจะทำให้ท้องเสีย อาจเลือกทานนมถั่วเหลือง หรือนมจากธัญพืชแทน